รายการบทเรียน
Lesson: ดอกไม้และใบไม้สำหรับร้อยมาลัย สัปดาห์ที่ 4 (22-26 พ.ย. 2564)
About Lesson

1.ชนิดของดอกไม้และใบไม้ที่ใช้ร้อยมาลัย

ดอกไม้ที่ใช้ร้อยทั้งดอก ได้แก่ ดอกพุดตูม มะลิตูม บานไม่รู้โรย พุทธชาด ดอกรัก เล็บมือนาง เขี้ยวกระแต ชบาหนู ประทัด ฯลฯ

ดอกไม้ที่ใช่กลีบร้อย ได้แก่ กุหลาบ บานบุรี หงอนไก่ รักเร่ เฟื่องฟ้า แพงพวย ฯลฯ

ใบไม้ที่ใช้ร้อยมาลัย ได้แก่ ใบกระบือ ใบโกสน ใบแก้ว ใบมะยม ชบาด่าง ใบตองอ่อน กาบพลับพลึง ใบก้ามปู ฯลฯ

2.การเก็บรักษาดอกไม้และใบไม้

การเก็บดอกไม้จากต้น ควรเก็บตอนเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือตอนพลบค่ำ การตัดใบตองควรตัดทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนใช้เพื่อให้ใบตองนิ่ม โดยผึ่งไว้ในที่ร่มดอกพุดตูม ให้ล้างด้วยน้ำแกว่งสารส้ม ใส่ตะแกรงเกลี่ยไว้ในที่ร่ม

ดอกกุหลาบ ตัดก้านกุหลาบเฉียง ๆ ในน้ำเพื่อช่วยให้ก้านดูดน้ำได้มากขึ้น ควรใช้กรรไกรคม ๆ ตัดแล้วห่อก้านด้วยใบตองแช่น้ำที่สะอาด ๆ ไว้วางในที่อากาศโปร่งเย็น ไม่มีลมโกรก คอยพรมน้ำอยู่เสมอ

ดอกรัก อย่าพรมน้ำ ใส่ตะแกรงคลุมด้วยผ้าขาวบางที่พรมน้ำพอชื้น

ดอกพุทธชาดและดอกเขี้ยวกระแต ห่อรวมกันแน่น ๆ ใส่กระทงไว้ไม่ต้องพรมน้ำ วางไว้ในที่เย็น

ดอกบานไม่รู้โรย ไม่ต้องแก้มัดออก ตัดก้านให้เท่ากันแล้วแช่ก้านไว้ในน้ำ พรมน้ำที่ดอก ใช้ผ้าขาวบางพรมน้ำให้ชุ่มปิดไว้

ดอกจำปีดอกจำปา เด็ดเกสรข้างในออก ดอกจะไม่บาน ใส่กระทงหรือถ้าต้องการรักษารูปทรงให้เรียงดอกห่อด้วยใบตองแน่นแล้วพรมน้ำ หรือใช้ผ้าขาวบางพรมน้ำคลุมไว้

ดอกกล้วยไม้ ไม่ควรพรมน้ำที่ดอก เพราะจะทำให้ดอกเปลี่ยนสี เช่น ดอกแวนด้าสีม่วง จะกลายเป็นสีขาว

การเลือกดอกไม้ ใบไม้ และวัสดุตกแต่ง

นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรคำนึงถึง เช่น การปลิดกลีบกุหลาบไม่ให้ช้ำจะช่วยให้สดอยู่ได้นานทีเดียวมีขั้นตอนดังนี้ มือซ้ายจับก้านกุหลาบคว่ำลง มือขวาจับกลีบกุหลาบชั้นบนแล้วค่อยดึงเข้าหาตัว หมุนก้านกุหลาบออกข้างนอกอย่างช้า ๆ กลีบกุหลาบก็จะหลุดออกโดยไม่บอบช้ำตามที่ต้องการ

การพับกลีบกุหลาบโดยพับเอาโคนกลีบออกข้างนอกเวลาร้อย การพับกลีบกุหลาบ ควรเลือกกุหลาบที่มีโคนกลีบสวย ไม่มีรอยเว้าแหว่ง ถือโคนกลีบขึ้นข้างบน พับทบครึ่งตามความยาวของกลีบ( เอาด้านสีเข้าไว้ข้างใน ) แล้วพับกลีบกลับออกมาทั้งสองข้าง

การพับกลีบใบไม้ ใบไม้ที่ใช้ในการร้อยมาลัย มีวิธีในการพับกลีบในแบบต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ลักษณะ และรูปทรงของดอกไม้และใบไม้ที่เรามีอยู่ว่า เหมาะสมกับการพับแบบใดมากที่สุด ก็ควรใช้วิธีการพับแบบนั้น ๆ ตามโอกาสอันควรด้วย เพราะดอกไม้ ใบไม้ แต่ละท้องถิ่นแต่ละฤดูกาลนั้นย่อมหาได้ง่ายและยากไม่เหมือนกัน

ความสดของดอกไม้

ดอกไม้และใบไม้ที่ใช้ในการร้อยมาลัย ควรต้องสดและใหม่อยู่เสมอ ควรได้รับการดูแลรักษาที่ดีอย่างถูกต้องตามธรรมชาติของดอกไม้ชนิดนั้น ๆ ด้วย ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องอย่างแรง และในระหว่างการร้อยมาลัยนั้นก็ควรจับต้องดอกไม้ ใบไม้อย่างเบามือ เพื่อจะได้ไม่เกิดรอยช้ำเหี่ยวเฉาง่าย สามารถจะคงความสดสวยอยู่ได้นานเท่าที่ควร

ความสวยงามของมาลัย

ความสวยงามของมาลัยนั้นย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้

  1. สัดส่วนของมาลัย มาลัยแต่ละแบบแต่ละชนิดนั้นย่อมมีสัดส่วนที่เฉพาะในพวงนั้น ๆ ซึ่งไม่อาจกล่าวเป็นตัวเลขที่กำหนดเป็นกฎเกณฑ์ได้ตายตัวแน่นอน แต่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนเป็นสำคัญอันดับแรก โดยจะต้องคำนึงถึงขนาดของมาลัยต่อความยาวของอุบะ จำนวนขาของอุบะที่ใช้ ขนาดของมาลัยซีกที่จะใช้รัด และส่วนประกอบอื่น ๆ ทุกชิ้น ควรจะต้องได้สัดส่วนกันเสมอจึงจะเกิดความงามได้
  2. สีสันของมาลัย สีของดอกไม้ ใบไม้ที่ร้อยมาลัยก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งเช่นกัน ควรจะเป็นสีที่สดใสไม่เศร้าหมอง ในมาลัยแต่ละชุดแต่ละแบบนั้น ควรจะใช้สีที่มีความกลมกลืนเข้ากันได้ในบางส่วน แต่บางส่วนที่ควรจะเน้นให้เกิดจุดเด่น ก็ควรจะใช้สีที่ตัดกันจะช่วยเพิ่มความน่าดูและสวยงามขึ้นได้อย่างมาก เช่น มาลัยที่ร้อยใส่ลวดลายต่าง ๆ ควรจะเลือกใช้สีที่ตัดกันเพื่อจะได้เน้นลายให้เด่นชัดขึ้นอย่างชัดเจน
  3. ฝีมือการร้อย ควรจะต้องมีความประณีตตั้งแต่การตัดกลีบ ( สำหรับดอกไม้ ใบไม้บางชนิด )การพับกลีบ การส่งกลีบ การร้อยเรียงลำดับได้เรียบเสมอกัน การผูกมัดไว้ให้เรียบร้อย สิ่งเหล่านี้ถ้าทำด้วยความประณีตจะทำให้เกิดความสวยงามได้อีกประการหนึ่งเช่นกัน
  4. ความสดของดอกไม้ ดอกไม้หรือใบไม้ที่ใช้ในการร้อยมาลัย ควรจะต้องสดและใหม่อยู่เสมอควรได้รับการดูแลรักษาที่ดีอย่างถูกต้องตามธรรมชาติของดอกไม้ชนิดนั้น ๆ ด้วย ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องอย่างแรง และในระหว่างการร้อยมาลัยนั้นก็ควรจับต้องดอกไม้ ใบไม้อย่างเบามือ เพื่อจะได้ไม่เกิดรอยช้ำเหี่ยวเฉาง่าย สามารถจะคงความสดอยู่ได้นานเท่าที่ควร

วิธีการแต่งตัวมาลัย

เมื่อร้อยมาลัยครบทุกส่วนแล้วจึงนำส่วนประกอบต่าง ๆ นั้นมาผูกมัดเข้าด้วยกันจนกระทั่งสำเร็จเป็นพวงที่สมบูรณ์ ซึ่งมีหลักทั่วไปดังนี้

  1. สำรวจและตกแต่งตัวมาลัยให้เรียบร้อย
  2. ผูกอุบะกับตัวมาลัย
  3. ผูกมาลัยซีกปิดรอยต่อระหว่างอุบะกับมาลัย
  4. ผูกมาลัยกับริบบิ้น ( ถ้าเป็นมาลัยที่ผูกกับริบบิ้น เช่น มาลัยสองชาย มาลัยชายเดียวผูกกับริบบิ้นสำหรับถือ และมาลัยชำร่วย )

การเก็บรักษามาลัยที่ทำเสร็จแล้ว

มาลัยที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่จะใช้ก็ควรจะต้องมีวิธีการเก็บรักษาที่ดีเพื่อให้พวงมาลัยสดสวยอยู่ได้นานเท่าที่ควร ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกันคือ

  1. วางในถาดที่รองด้วยใบตอง แล้วคลุมด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำบิดให้หมาด ๆ เก็บไว้ในที่เย็นแต่ลมไม่โกรก วิธีนี้นิยมใช้กับการเก็บระยะเวลาไม่นานนัก
  2. ใส่ถุงพลาสติกวางหรือแขวนไว้ในที่เย็น แต่ลมไม่โกรก วิธีการนี้นิยมใช้กับการเก็บในระยะเวลานานกว่าวิธีการแรก
  3. ใส่ถุงพลาสติกเก็บไว้ในช่องเก็บผักสดของตู้เย็น วิธีการนี้ใช้กับวิธีการเก็บในระยะเวลานานสักหน่อย เช่น การเก็บนานหลาย ๆ ชั่วโมงหรือการเก็บค้างคืน
Exercise Files
No Attachment Found
No Attachment Found
รายการบทเรียน
0% Complete