ปรากฏการณ์จันทรุปราคา (Lunar Eclipse)
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เต็มดวง จะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน เมื่อเรามองไปบนท้องฟ้า เราจะเห็นดวงจันทร์สีแดงอมน้ำตาลที่มีลักษณะกลมโตและใหญ่กว่าปกติ หรือที่เราเรียกกันว่า “ดวงจันทร์สีเลือด”
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาเรียงตัวอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยการเรียงอยู่ระนาบเดียวกัน ต้องเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง (ขึ้น 15 ค่ำ) เท่านั้น ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์มีการโคจรเข้าไปในเงาของโลก การที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงาโลก จะทำให้ดวงจันทร์เกิดการเว้าแหว่ง และหากดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงามืดของโลกพอดี จะทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะกลมโตและมีสีน้ำตาลอมแดง เรียกว่า จันทรุปราคาเต็มดวง
เงาโลกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
1. เงาส่วนที่เป็นเงามืด (Umbra Shadow) เป็นเงาส่วนที่มืดที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่ตรงกับดวงจันทร์
2. เงาส่วนที่เป็นเงามัว (Penumbra Shadow) เป็นเงาส่วนที่ยังมีแสงสลัว โดยเงามัวนี้จะอยู่รอบ ๆ เงามืดอีกที
ชนิดของจันทรุปราคา
จันทรุปราคาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
1. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) จะเกิดขึ้นในส่วนเงามัว เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามัวของโลก แต่จันทรุปราคาลักษณะนี้เราจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ยาก
2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืด เราจะสามารถเห็นจันทรุปราคาได้บางส่วนเนื่องจากถูกเงามืดของโลกบดบังไป ดังนั้น ดวงจันทร์ที่เราเห็นจึงมีลักษณะเว้าแหว่ง
3. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลก โดยดวงจันทร์ทั้งดวงจะซ้อนทับกับเงามืดพอดี