รายการบทเรียน
หน่วยที่ 10 เรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการละคร
ละครเป็นศิลปะการแสดงที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานในเรื่องของการสร้างสรรค์การแสดง องค์ประกอบของการแสดง รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับสาระการเรียนรู้อื่นๆ
0/5
หน่วยที่ 11 เรื่องการแสดงละคร
การแสดงละคร เป็นการนำจินตนาการและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมาเสนอเป็นเรื่องราวให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการบูรณาการกับศิลปะแขนงอื่นๆ จึงจะสามารถวิเคราะห์การแสดงได้
0/3
Lesson: ละครในยุคสมัยต่างๆ
About Lesson

          ในสมัยก่อนสุโขทัย บริเวณพื้นที่ที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ได้มีการแสดงในรูปแบบของละครเกิดขึ้นแล้ว โดยมีข้อสันนิษฐานว่า “มโนราห์” น่าจะเป็นละครเรื่องแรกที่มีการนำมาแสดง

          เมื่อมีการสร้างอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการแสดงนาฏศิลป์เป็นเรื่องราวแบบละคร มีเพียงหลักฐานเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านทั่วๆ ไปในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง ที่ได้กล่าวถึงการละเล่นในเทศกาลกฐินว่า

“ดงบงคมกลองด้วยเสียงพาด เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ

ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน

        และในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย มีข้อความปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๘ ว่า

“ระบำ รำ เต้น เหล้นทุกฉัน”

          ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า การแสดงในสมัยนี้มีแบบแผนแล้ว และระบำที่กล่าวถึงในจารึกนี้ก็ถือเป็นรากฐานของนาฏศิลป์ไทยได้

สมัยอยุธยา

          สมัยอยุธยาได้มีการจัดระเบียบแบบแผนในการแสดงละคร โดยมีการตั้งชื่อการแสดงละครที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นๆ ดังนี้

ละครชาตรี

ละครชาตรี ถือกำเนิดมาจากละครพื้นบ้านที่เป็นมหรสพประจำท้องถิ่น มีลักษณะเป็นละครเร่ มีตัวละครหลักเพียง ๓ ตัว คือ ตัวพระ (ตัวนายโรง) ตัวนาง และตัวตลก เครื่องดนตรีประกอบจะมีน้อยชิ้น เนื้อเรื่องที่แสดงเป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งนำมาจากนิทานชาดก หรือเป็นเรื่องที่ชาวบ้านแต่งขึ้นเอง                ละครชาตรี เป็นต้นแบบของละครรำ นิยมแสดงเรื่องพระสุธน – มโนราห์ ภาคใต้จะเรียกว่า “โนรา” ทางภาคกลาง จะเรียกว่า “ชาตรี” หรือ “โนราห์ชาตรี” เรื่องราวที่นำมาแสดงส่วนใหญ่จะสะท้อนความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และขนบธรรมเนียม ประเพณี เช่น วัฒนธรรมการแต่งกายที่ผู้ชายจะไม่สวมเสื้อในการแสดงละครชาตรี หรือวัฒนธรรมของไทยที่มีความเคารพต่อครูอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

          ในการแสดงละครชาตรีจะต้องมีประเพณีรำซัดไหว้ครู และยังเป็นการแสดงเพื่อบูชาและบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยอำนวยความสำเร็จในการประกอบกิจการต่างๆ อีกด้วย

          ต่อมาการแสดงละครชาตรีแบบพื้นเมืองก็วิวัฒนาการมาเป็น “ละครชาตรีเครื่องใหญ่ การแต่งกายจะเป็นแบบละครนอกคือ แต่งเข้าเครื่อง หรือยืนเครื่อง

ละครนอก

          ละครนอก ถือกำเนิดมาจากการละเล่นพื้นเมืองที่มีผู้ชายและผู้หญิงเล่นเพลงพื้นเมืองโต้ตอบกัน เช่น เพลงปรบไก่ เพลงพวงมาลัย เป็นต้น ต่อมาปรับปรุงให้การเล่นเพลงจัดเป็นเรื่องราวขึ้นเรื่องที่แสดงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตภายในครอบครัว โดยนำเค้าโครงมาจากนิทานพื้นเมืองและปัญญาสชาดกมาแต่งเป็นบทละคร

          บทละครในสมัยอยุธยาคำกลอนจะเหมือนบทละครชาตรี แต่ถ้าเป็นบทละครที่แต่งขึ้นภายหลังสมัยอยุธยาจะมีลักษณะเป็นกลอนแปด การแสดงละครนอก มีจุดมุ่งหมายในการแสดงเรื่องราวมากกว่าการแสดงความประณีต งดงาม หรือแสดงท่ารำของตัวละคร ดำเนินเรื่องให้รวดเร็วโลดโผน ตลกขบขัน ไม่เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผน โดยขนบนิยมในการดำเนินเรื่องผู้แสดงละครนอกจะเป็นชายล้วน เป็นละครที่คนธรรมดาสามัญเล่นกันตามบ้าน หรือตามวัด บทเจรจาของตัวละครทุกตัว หรือแม้กระทั่งกษัตริย์จะไม่ใช้คำราชาศัพท์ อิริยาบถของตัวละครและภาษาที่ใช้จะเป็นแบบคนธรรมดาสามัญ ลักษณะท่ารำว่องไว กระฉับกระเฉงเหมือนกิริยาของชาวบ้าน ทำให้การดำเนินเรื่องรวดเร็วทันใจผู้ชม จนชาวบ้านเรียกละครนอกว่า “ละครตลาด”

          การแต่งกายละครนอกในสมัยอยุธยา จะแต่งแบบคนธรรมดาสามัญ ต่อมาได้มีการปรับปรุงการแต่งกายโดยเลียนแบบละครใน คือ แต่งแบบยืนเครื่องพระ – นาง

ละครใน

          ละครใน เป็นละครที่มุ่งเน้นศิลปะการร่ายรำเป็นสำคัญ แสดงเฉพาะภายในเขตราชฐาน ลักษณะการแสดงมีขนบนิยมเคร่งครัด มีรูปแบบเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของละครในคือ ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน เรื่องที่นิยมนำมาแสดงมีเพียง ๓ เรื่องเท่านั้น ได้แก่ เรื่องรามเกียรติ์เรื่องอิเหนา และเรื่องอุณรุท

          มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงศิลปะชั้นสูงของนาฏศิลป์ ไม่นิยมแสดงบทตลกขบขัน ผู้ประพันธ์บทละครในต้องพิถีพิถันในการเลือกใช้ถ้อยคำที่สละสลวย ไม่มีบทเจรจาที่เป็นภาษาตลาด เพลงร้องและดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดงต้องมีจังหวะนุ่มนวล สละสลวย ทั้งนี้ เพื่อให้ตัวละครได้อวดฝีมือในการร่ายรำ ผู้แสดงละครในจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ สามารถตีบทได้คล่อง มีท่าทีสง่างาม ดังคำกล่าวที่ว่า “ทีท้าวทีพญา” ส่วนในเรื่องของเครื่องแต่งกาย จะ แต่งกายแบบยืนเครื่องพระ – นาง

          ละครในเจริญสูงสุดในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ทั้ง ๒ พระองค์ ได้ทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาขึ้นมา ๒ แบบเจ้าฟ้ากุณฑลนิพนธ์เรื่องอิเหนาใหญ่ (ดาหลัง) ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎนิพนธ์เรื่องอิเหนาเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องราวที่นำมาแสดงในรูปแบบละครใน

          โขน

          โขน จัดอยู่ในประเภทละครในโดยโขนได้พัฒนามาจากการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ หนังใหญ่ และกระบี่กระบอง ลักษณะการแสดงโขนจะแบ่งออกเป็น ๕ ชนิด คือ  โขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนหน้าจอ โขนโรงในและโขนฉาก

          สำหรับโขนโรงในเป็นการแสดงโขนที่เป็นละครในมีบทพากย์เจรจาอย่างโขน มีต้นเสียงและลูกคู่รับแบบละคร ลักษณะการแสดงสำหรับตัวละครที่เป็นมนุษย์จะมีลีลาท่ารำเหมือนกับละครใน เรื่องที่นิยมนำมาแสดง คือ เรื่องรามเกียรติ์ผู้แสดงจะแต่งกายยืนเครื่องพระ นาง ยักษ์ ลิง ตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์จะสวมหัวโขน

สมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

  • มีการรวบรวมตำราฟ้อนรำและมีการฝึกหัดโขนทั้งวังหน้าและวังหลวง
  • ทรงได้พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุท และเรื่องดาหลัง
  • ละครผู้หญิงถือเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

  • เป็นยุคทองของนาฏศิลป์และการละคร
  • พระราชนิพนธ์บทละครรำเรื่องอิเหนา และบทเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ๔ ตอน ทั้งยังทรงริเริ่มการขับเสภาประกอบปี่พาทย์
  • มีการรับอิทธิพลจากนาฏศิลป์ในเอเชียมาประดิษฐ์ท่ารำและเริ่มใช้ผู้หญิงแสดงละครนอก โดยแต่งกายแบบโขน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • มีการยกเลิกละครหลวง
  • เกิดการตั้งคณะละครของเจ้านายและเอกชนขึ้นหลายคณะ เช่น ละครเจ้ากรับ แสดงละครนอก โดยตัวละครจะเป็นชายล้วน เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • ละครหลวงได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่
  • เอกชนฝึกหัดละครผู้หญิงได้ ชาย – หญิงจึงเล่นละครผสมโรงกันได้ และมีการบัญญัติข้อห้ามการจัดการแสดงของเอกชนขึ้นรวมทั้งได้ประกาศกฎหมายภาษีมหรสพขึ้นเป็นครั้งแรก
  • รวบรวมชำระพิธีไหว้ครูและได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นเป็นฉบับหลวง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • ยกเลิกกฎหมายภาษีมหรสพ
  • การละครไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตกและมีละครเกิดใหม่หลายประเภท ดังนี้

      ๑. ละครพันทาง ปรับปรุงมาจากละครนอก โดยให้แต่งกายตามเชื้อชาติของละครที่เล่น

      ๒. ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่ปรับปรุงให้คล้ายละครโอเปรา (Opera) ของตะวันตก

       ๓. ละครเสภา เป็นละครที่มีคนขับเสภาและเครื่องปี่พาทย์ ตัวละครรำตามคำขับเสภา เจรจาตามเนื้อเรื่อง แต่งกายแบบละคร      พันทาง นิยมแสดงเรื่องขุนช้างขุนแผน

      ๔. ละครร้อง ดัดแปลงมาจากละครตะวันตก ผู้แสดงเป็นหญิงล้วนมีเพียงตัวตลกเท่านั้นที่ใช้ผู้ชายแสดง

      ๕. ละครพูด จะดำเนินเรื่องด้วยการพูดและแสดงท่าทางประกอบ มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ตัวละครแต่งกายแบบคนธรรมดา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • โปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งกรมมหรสพและโรงเรียนฝึกหัดนาฏศิลป์
  • ดัดแปลงการแสดงละคร จนเกิดการแสดงรูปแบบใหม่ๆ ดังนี้

      ๑. โขนบรรดาศักดิ์และโขนเชลยศักดิ์ คือ โขนที่ฝึกหัดให้มหาดเล็กแสดงและโขนสำหรับประชาชนทั่วไปแสดง

      ๒. ละครดึกดำบรรพ์เรื่องรามเกียรติ์ คือ การนำโขนไปแสดงบนเวที

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • มีการยกเลิกกรมมหรสพ
  • โอนกรมปี่พาทย์และโขนหลวงไปอยู่ในกระทรวงวัง
  • เกิดการตั้งกรมศิลปากร เพื่อดูแลศิลปะการแสดงนาฏศิลป์

พระบาทสมเด็จพระประเมนทรมหาอนันทมหิดล

  • กำเนิดละครหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นละครปลุกใจที่มีลักษณะเฉพาะ ดังนี้

      ๑. ดนตรีประกอบใช้ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล

      ๒. มีการแสดงระบำสลับฉาก

      ๓. ฉากสุดท้ายตัวละครทุกตัวต้องออกแสดงหมด

  • กรมศิลปากรปรับปรุงการรำโทนให้เป็นรำวงมาตรฐาน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

  • โปรดเกล้าฯ ให้มีการบันทึกภาพยนตร์ส่วนพระองค์เกี่ยวกับท่ารำเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ จนถึงเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง คือ ท่ารำ เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
  • รูปแบบละครแพร่หลายจนเป็นละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ ละครเวที มีละครตามแนวของชาติอื่นๆ เข้ามาเผยแพร่
  • เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนนาฏศิลป์ไทยในทุกระดับชั้น
  • เชิดชูเกียรติบุคคลในวงการศิลปะการแสดง โดยกำหนดให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ
Exercise Files
No Attachment Found
No Attachment Found
รายการบทเรียน
หน่วยที่ 10 เรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการละคร
ละครเป็นศิลปะการแสดงที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานในเรื่องของการสร้างสรรค์การแสดง องค์ประกอบของการแสดง รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับสาระการเรียนรู้อื่นๆ
0/5
หน่วยที่ 11 เรื่องการแสดงละคร
การแสดงละคร เป็นการนำจินตนาการและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมาเสนอเป็นเรื่องราวให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการบูรณาการกับศิลปะแขนงอื่นๆ จึงจะสามารถวิเคราะห์การแสดงได้
0/3
0% Complete