เนื้อหาของคอร์ส
หน่วยที่ 10 เรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการละคร
ละครเป็นศิลปะการแสดงที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานในเรื่องของการสร้างสรรค์การแสดง องค์ประกอบของการแสดง รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับสาระการเรียนรู้อื่นๆ
0/5
หน่วยที่ 11 เรื่องการแสดงละคร
การแสดงละคร เป็นการนำจินตนาการและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมาเสนอเป็นเรื่องราวให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการบูรณาการกับศิลปะแขนงอื่นๆ จึงจะสามารถวิเคราะห์การแสดงได้
0/3
นาฏศิลป์ ศ22102 ม.2 ภาคเรียนที่ 2
เกี่ยวกับบทเรียน

การแสดงที่เป็นละครจะต้องมีองค์ประกอบครบ ๔ ประการ

เรื่อง (Story)

เนื้อหาสรุป หรือแนวคิด (Subject or Theme)

นิสัยตัวละคร (Characterization)

บรรยากาศ (Atmostphere)

เรื่อง (Story) ละครต้องมีเรื่องราว ผู้ชมละครจะรู้เรื่องของละครได้โดยการฟังบทเจรจาของตัวละคร ผู้ประพันธ์บทละครต้องมีความสามารถในการบรรยายบุคลิกลักษณะและนิสัยของตัวละครได้อย่างชัดเจน บทเจรจาของตัวละครทุกตอนจะต้องมีความหมายและ มีความสำคัญต่อการดำเนินเรื่อง

เนื้อหาสรุป หรือแนวคิด (Subject or Theme) ผู้ประพันธ์บทละครจะต้องมีแนวคิดที่จะนำพาให้เรื่องดำเนินไปสู่จุดหมายจุดประสงค์ของการให้แนวคิด ก็เพื่อให้เนื้อเรื่องของละครเกิดความประทับใจแก่ผู้ชม

          แนวคิดของเรื่องจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของบทละคร ซึ่งมีหลายแนว เช่น การเสียสละพลีชีวิตเพื่อชาติ ธรรมะย่อมชนะอธรรม เป็นต้น

         เนื้อหาสรุป หรือแนวคิด เป็นการให้คติเตือนใจ ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกให้ผู้ชมรับรู้เจตคติที่ดี เช่น ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น

นิสัยตัวละคร (Characterization) ตัวละครจะทำหน้าที่ให้กำเนิดโครงเรื่องและเนื้อเรื่อง ผู้ประพันธ์บทละครจะต้องสร้างตัวละครให้ตรงกับเนื้อหาสรุป เช่น เนื้อหาของละครเป็นแนวสมจริง ก็ต้องสร้างตัวละครให้เป็นมนุษย์ธรรมดาตามธรรมชาติของตัวละครที่ยังมีความต้องการอาหาร ที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น

         สำหรับเรื่องราวที่มีบทบาทมากที่สุดในละคร ได้แก่ เรื่องราวที่เกี่ยวกับความรัก ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างครอบครัว หรือคู่รัก ซึ่งจะส่งผลไปยังองค์ประกอบอื่นๆ และมีอิทธิพลต่อผู้ชมมากที่สุด ถ้าเนื้อเรื่องเป็นแนวคิดที่เหนือจริงผิดไปจากธรรมชาติ ตัวละครก็จะถูกสร้างให้มีพฤติกรรมที่ต่างจากมนุษย์ธรรมดา เช่น เหาะได้ หายตัว แปลงกายได้ มีอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เป็นต้น

ตัวละครที่เป็นตัวเอกของเรื่องเรียกว่า โพรแทกโอนิสต์” (Protagonist)

ตัวละครที่เป็นผู้ร้ายเรียกว่าแอนแทกโอนิสต์” (Antagonist)

บรรยากาศ (Atmostphere) การสร้างบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับตัวละครจะต้องกลมกลืนกับบทบาทของตัวละคร นับเป็นกลวิธีอันสำคัญ อย่างหนึ่งของการแสดงละคร

          การประดับตกแต่งฉาก แสง สี เทคนิคพิเศษ และเครื่องแต่งกาย เป็นการช่วย สื่อความหมายและอารมณ์ ช่วยสร้างบรรยากาศในการแสดง เช่น ฉากป่าเขาลำเนาไพร จะมีต้นไม้ ดอกไม้ น้ำตก มีเสียงนกร้อง สัตว์นานาชนิด ฉากเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมละครมีความรู้สึกคล้อยตามไปกับภาพที่เห็น เป็นต้น

          สำหรับแสง นอกจากจะให้ความสว่างแล้ว ยังช่วยบอกเวลา สร้างอารมณ์ แสงนวลอ่อนในเวลากลางคืน หรือแสงสว่างจ้าในเวลากลางวัน จะมีความเข้มของแสงต่างกัน เป็นการสร้างบรรยากาศที่แตกต่างกัน เช่น แสงที่มืดสลัว ทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าสะพรึงกลัว บรรยากาศแจ่มใส สีต้องสดใส ภาพและสีในแต่ละฉากจึงเป็นการสร้างเสริมบรรยากาศให้ ดูสมจริง เป็นต้น

          องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างบรรยากาศ คือ เพลงที่เรียกว่า เพลงภูมิหลัง” (Background Music) เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง มีแต่ทำนองเพลง ไม่เกี่ยวกับการดำเนินเรื่อง แต่ช่วยสร้างอารมณ์ ความรู้สึกให้แก่ผู้ชม

          สำหรับละครไทย จะมีเพลงที่ใช้เพื่อแสดงอารมณ์ตามบทบาทของตัวละครอยู่หลายเพลง อย่าง เพลงอารมณ์เศร้า เช่น เพลงโอด เพลงนางครวญ เพลงธรณีกรรแสง เป็นต้น เพลงอารมณ์รื่นเริง เช่น เพลงกราวรำ เพลงแขกบรเทศ เพลงประสิทธิ์ เป็นต้น เพลงอารมณ์โกรธ เช่น เพลงเทพทอง เพลงนาคราช เพลงลิงโลด เป็นต้น