https://wordwall.net/th/resource/27510551 ละครไทย ในอดีตเป็นละครที่แสดงเพื่อความบันเทิงและแสดงความเป็นเลิศทางด้านศิลปะ เนื้อเรื่องมักจะ แสดงแนวคิดในอุดมคติ ผู้ชมจะชื่นชมกับตัวละครที่มีอิทธิปาฏิหาริย์ ถ้าเป็นละครรำจะเน้นลีลาท่ารำที่งดงาม เครื่องแต่งกาย และฉากที่วิจิตรตระการตา ผู้ชมจะเพลิดเพลินไปกับฉาก ระบำ รำ ฟ้อน และบทตลก ขบขัน
ละครสากลจากตะวันตก เป็นการจำลองภาพชีวิตจริงและสังคม เพื่อให้ผู้ชมเกิดความคิดมีความรู้สึกร่วม และรับรู้ปัญหาของตัวละคร
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่าชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่ จะมีตำนานแสดงถึงผลงานการสร้างสรรค์ละคร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเพื่อรับใช้สังคม ให้ความรู้ ให้บทเรียน ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของผู้ชมละครให้ตระหนักในภารกิจหน้าที่ของตน
ปัจจุบันมีการนำละครมาเป็นสื่อรับใช้สังคมมากขึ้น เห็นได้จากการที่งานละครเข้าไปมีบทบาทในโครงการพัฒนาสังคม ละครจึงมีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดและพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมได้เป็นอย่างดี ด้วยการรับหน้าที่เป็นครูทางอ้อม โดยสอดแทรกบทเรียนต่างๆ ผ่านบทบาทของตัวละครแต่ละตัว
ในประเทศไทย หลักสูตรการศึกษาได้บรรจุวิชาการละครไว้ในทุกระดับชั้น ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะเบื้องต้นในการแสดงละคร เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้มีโอกาสสำรวจทัศนคติ ค่านิยม ประสบการณ์ค้นพบความถนัด ความสามารถในทางสร้างสรรค์ เน้นที่กระบวนการและผลผลิต โดยต้องเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการกว้างๆ ในการสร้างสรรค์ ดังนี้
วัตถุประสงค์และเป้าหมาย เช่น จัดการแสดงขึ้นเพื่อสิ่งใด จัดให้ใครชม เป็นต้น ผู้สร้างสรรค์ละครควรคำนึงถึงอายุ เพศ พื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับละครของผู้ชม เพื่อจะได้สื่อสารทางด้านความคิด อารมณ์ และโสตสัมผัสได้ตรงกับความต้องการ
ขั้นตอนการปฏิบัติงานของทุกฝ่าย เพราะละครเป็นที่รวมของศิลปะแขนงต่างๆ ที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะเกือบทุกสาขา เพื่อให้ทีมงานทุกฝ่ายประสานสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ผู้สร้างงานจึงจำเป็นต้องรู้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานของทุกฝ่าย เช่น ผู้ออกแบบฝ่ายเครื่องแต่งกาย ฉาก แสง สี เครื่องประกอบฉาก เป็นต้น จะต้องมีความสามารถในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ ที่เหมาะสมกลมกลืนกัน เพื่อช่วยทำให้ละครเรื่องนั้นมีบรรยากาศที่สมจริง
สุนทรียภาพด้านบทประพันธ์ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ต้องมีความงามทางด้านภาษา มีความไพเราะ สามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนตรงกับจุดมุ่งหมายของการแสดง
สุนทรียภาพด้านดนตรีและการขับร้อง ดนตรีเป็นปัจจัยหลักของการแสดงละคร ที่จะช่วยสร้างอารมณ์ตามบทบาทของตัวละคร เช่น อารมณ์เศร้าโศก เสียใจ อารมณ์ตื่นเต้น เร้าใจ เป็นต้น ทั้งการบรรเลงและการขับร้อง ถ้าผสมกลมกลืนกับบทบาทของตัวละคร จะทำให้เกิดสุนทรียภาพในการแสดง ผู้ชมก็จะเกิดความเข้าใจ ซาบซึ้งไปกับการแสดง
สุนทรียภาพจากตัวผู้แสดง ผู้แสดงต้องมีบุคลิกลักษณะผสมกลมกลืนไปกับบทบาทที่แสดง มีความสามารถในการสื่อความหมาย ทำให้ผู้ชมเกิดความเชื่อ และรู้สึกคล้อยตามบทบาท ทั้งนี้ ผู้แสดงที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถจะต้องเป็นผู้ที่สร้างความสะเทือนอารมณ์ให้แก่ผู้ชมได้
สุนทรียภาพจากเครื่องแต่งกาย เครื่องแต่งกายของผู้แสดงจะต้องเน้นบุคลิกของตัวละครให้เห็นฐานะทางสังคม รสนิยม มีความสง่างาม และต้องผสมกลมกลืนไปกับฉากละคร
สุนทรียภาพจากองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ฉาก แสง สี เสียง เป็นต้น ต้องมีความประณีตในการตกแต่ง เพราะต้องกลมกลืนกับตัวละครและเครื่องแต่งกาย ต้องให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และยุคสมัย รวมทั้งต้องเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ด้วยสุนทรียภาพของการแสดงละครจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ชม โดยผู้ชมจะพิจารณาบทละคร ดนตรีบุคลิกลักษณะของตัวละคร บทบาท และองค์ประกอบอื่นๆ ต้องประสานกันอย่างกลมกลืน