เนื้อหาของคอร์ส
หน่วยที่ 10 เรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการละคร
ละครเป็นศิลปะการแสดงที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานในเรื่องของการสร้างสรรค์การแสดง องค์ประกอบของการแสดง รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับสาระการเรียนรู้อื่นๆ
0/5
หน่วยที่ 11 เรื่องการแสดงละคร
การแสดงละคร เป็นการนำจินตนาการและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมาเสนอเป็นเรื่องราวให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการบูรณาการกับศิลปะแขนงอื่นๆ จึงจะสามารถวิเคราะห์การแสดงได้
0/3
นาฏศิลป์ ศ22102 ม.2 ภาคเรียนที่ 2
เกี่ยวกับบทเรียน

ความสัมพันธ์ของการละครกับสาระการเรียนรู้อื่น

ละครกับสาระภาษาไทย

            สาระภาษาไทยมีวรรณคดี วรรณกรรมเด่นๆ อยู่หลายเรื่อง ซึ่งการละครได้นำเนื้อหาบางตอนมาดัดแปลง เป็นบทละคร ได้แก่ หนังสือที่กำหนดตามหลักสูตรส่วนมากจะเป็นการตัดตอนมาจากบทละครไทย เช่น

ละครรำ เช่น เรื่องอิเหนา เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องสังข์ทอง เรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น

ละครพูด เช่น เรื่องหัวใจนักรบ เป็นต้น

ละครร้อง เช่น เรื่องสาวเครือฟ้า เป็นต้น

ละครหลวงวิจิตรวาทการ เช่น เรื่องเลือดสุพรรณ เป็นต้น

           ในการเรียนการสอนสาระภาษาไทยควรให้ผู้เรียนนำบทละครเหล่านี้มาฝึกอ่านให้ถูกต้องตามอักขระ วิธีฝึกพูด ฝึกเจรจา โดยการใส่อารมณ์ ตีความตามบทละคร หรือนำโครงเรื่องมาจากนิทานสุภาษิต เช่น นิทานเรื่องชาวนากับงูเห่า เรื่องกระต่ายกับเต่า เป็นต้น โดยให้เป็นทั้งผู้แสดงและผู้ชมละคร เพื่อฝึกแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ วิจารณ์เรื่องที่จะแสดงรวมทั้งฝึกความร่วมมือในการจัดการแสดง

          การนำบทละครในสาระภาษาไทยมาแสดง ทำให้จำเรื่องราวในบทละครได้อย่างแม่นยำอีกทั้งในบทละคร แต่ละเรื่องยังมีแนวคิด คติสอนใจ สำนวนที่เป็นสุภาษิต คำพังเพย ผู้เรียนจะได้นำมาประยุกต์ใช้ในการแสดง สุนทรพจน์ อภิปราย เล่านิทาน ขับเสภา หรืออ่านทำนองเสนาะนอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถที่จะนำกิจกรรมของการละครเข้ามาสอดแทรกแสดงให้เพื่อนชมเป็นการผ่อนคลายความเครียดและเรียนบทเรียนด้วยความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อหน่ายได้อีกด้วย

ละครกับสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

          ละครมีบทบาทหน้าที่รับใช้สังคม มีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ แนวคิด พฤติกรรมของมนุษย์ได้ เพราะมนุษย์มักจะไม่ชอบให้ใครมาสั่งสอนแบบตรงๆ เพราะถือเป็นความน่าเบื่อ น่ารำคาญ ละครจึงเป็นครูของสังคมทางอ้อม

         โดยใช้วิธีการสอดแทรกบทเรียนไว้ในบทบาทของตัวละคร ถึงแม้จะมีการสอนแบบตอกย้ำซ้ำทวนสักเท่าใด ผู้ชมละครก็จะไม่เบื่อหน่ายบางคนดูละครเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยความซาบซึ้งและชื่นชอบ ขณะเดียวกันผู้ชมก็อาจจดจำพฤติกรรมที่ดีของตัวละคร แล้วนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

          เนื้อหาในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่สามารถนำมาแต่งเป็นบทละครให้ผู้เรียนแสดงได้มีอยู่มากมายหลายเรื่อง เช่น ประวัติบุคคลสำคัญ วีรบุรุษ วีรสตรีเหตุการณ์สำคัญของประเทศชาติ ประเพณี วัฒนธรรมที่สำคัญ เป็นต้น

          นอกจากนี้ ขนบธรรมเนียม ประเพณี สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การเมือง การปกครองในอดีต เราสามารถเรียนรู้ได้ผ่านทางละคร โดยเฉพาะละครพื้นบ้านจะมีภูมิปัญญาไทยที่บรรพบุรุษสั่งสม สืบทอดต่อๆ กันมาสอดแทรกไว้อยู่ด้วยเสมอ

ละครกับสาระศิลปะ

          การแสดงละคร ถือเป็นศูนย์รวมของศิลปะทุกสาขา สำหรับความสัมพันธ์ของการละครกับทัศนศิลป์นั้นจะปรากฏในละครทุกเรื่อง เพราะองค์ประกอบของละครจะต้องสร้างบรรยากาศเพื่อช่วยให้ผู้ชมมีความรู้สึกคล้อยตามไปกับเรื่องได้ เช่น ฉาก เครื่องแต่งกาย การแต่งหน้าการให้แสง สี และการแสดงบทบาทของตัวละครต้องอาศัยการนำองค์ประกอบศิลป์ เช่น จุด เส้นรูปร่าง รูปทรง สี มาประยุกต์ใช้ เป็นต้น

          การจัดตำแหน่งของผู้แสดงบนเวที การเคลื่อนไหวของตัวละคร ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านเฉียง ย่อมแสดงความรู้สึก อารมณ์ สี และน้ำหนัก การจัดฉาก ผู้แสดงบนเวทีจะอยู่ในตำแหน่งที่น้ำหนักมีความสมดุลกันทั้ง ๒ ด้าน ส่วนที่เบาจะเป็นบริเวณที่มีสีอ่อน หรือใช้อุปกรณ์ประกอบฉากมาตั้งถ่วงดุล การนำองค์ประกอบต่างๆ มารวมกัน ผู้สร้างสรรค์ต้องคำนึงถึงความมีเอกภาพความสมดุล ความกลมกลืน และความแตกต่างอันเป็นองค์ประกอบทางด้านทัศนศิลป์

          ดนตรีก็เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการแสดงละคร โดยเฉพาะเพลงภูมิหลังเป็นเพลงที่จะให้อารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ไปตามบทบาทของตัวละคร รวมทั้งในการแสดงนาฏศิลป์ จำเป็นต้องมีดนตรีบรรเลงประกอบ เพื่อสร้างบรรยากาศและกำกับจังหวะในการร่ายรำ ให้มีความพร้อมเพรียงกันได้อย่างลงตัว

          ในด้านนาฏศิลป์ ถ้าเป็นละครรำก็จะต้องนำหลักวิชามาประดิษฐ์ท่ารำ ถ้าเป็นละครสากลก็นำท่ารำมาประดิษฐ์เป็นระบำเพื่อประกอบเรื่อง หรือแสดงสลับฉาก เช่น ระบำอธิษฐาน ระบำระฆัง ระบำในน้ำมีปลาในนามีข้าว ที่ปรากฏในเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น

ละครกับสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี

          สาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี มีความสัมพันธ์กับสาระของการละคร เพราะการแสดงละครจะต้องประกอบไปด้วยการสร้างฉาก สร้างเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ การแต่งหน้า ทำผมการจัดสร้างอุปกรณ์ประกอบฉาก และอุปกรณ์ประกอบการแสดง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลงานการประดิษฐ์ทั้งสิ้น ซึ่งในการประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ อุปกรณ์ประกอบฉาก และอุปกรณ์ประกอบการแสดง จะต้องประดิษฐ์ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับละครเรื่องที่แสดงและควรคำนึงถึงหลักความพอเพียง โดยเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ ในท้องถิ่น

          นอกจากนี้ อุปกรณ์ประกอบในการเรียน อาจจำเป็นต้องอาศัยเครื่องยนต์กลไก ไฟฟ้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ง่าย สะดวกในการกำกับและทำให้เกิดความสมจริง ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานวิชาความรู้จากสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้

ละครกับสาระสุขศึกษาและพลศึกษา

          ในกลุ่มสาระนี้ วิชาที่เกี่ยวข้องกับการละครอย่างมากก็คือ วิชาพลศึกษา ได้แก่ การเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย และกิจกรรมนันทนาการ กล่าวคือ การละครถือเป็นกิจกรรมนันทนาการได้อย่างหนึ่ง เนื่องจากได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งการละครยังช่วยสร้างความพึงพอใจต่อความต้องการของมนุษย์ เป็นการเสริมสร้างสุขภาพทั้งกายและใจ เป็นการผ่อนคลายความเครียด

          การละครนั้นนอกจากเราจะเข้าร่วมในฐานะเป็นผู้แสดง หรือเป็นทีมงานจัดการแสดงแล้ว เราก็ยังสามารถเข้าร่วมในฐานะผู้ชมได้อีกด้วย นับเป็นกิจกรรมนันทนาการที่เหมาะสมกับบุคคลทุกเพศทุกวัย

          วิชาพลศึกษาก็มีความสัมพันธ์กับละครอย่างใกล้ชิด ในด้านการเตรียมความพร้อมของร่างกาย เพื่อฝึกให้ร่างกาย มีความยืดหยุ่นและแข็งแรง ขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย มีดังนี้

๑. ยืนตรง เขย่งปลายเท้าทั้ง ๒ ข้าง นับ ๑ ถึง ๑๐ แล้ววางส้นเท้าลงบนพื้น ทำสลับไปมาประมาณ ๗ – ๘ ครั้ง

๒. บริหารไหล่ โดยยกไหล่ทั้ง ๒ ข้างขึ้นให้สูงและลดลง

๓. บริหารคอ โดยการก้มและเงยอย่างช้าๆ และเอียงศีรษะไปด้านข้างทางซ้ายและทางขวา โดยทำสลับกัน

๔. บริหารเอว โดยการเอียงตัวไปด้านข้างทางซ้ายและทางขวา

๕. บริหารหัวเข่า โดยการย่อตัวลงและยืดตัวขึ้น

๖. การทำร่างกายให้เกิดความอบอุ่นโดยการวิ่งเหยาะๆ อยู่กับที่

          นอกจากนี้ เกมทางด้านพลศึกษาก็สามารถนำมาใช้ช่วยฝึกทักษะ เพื่อพัฒนาการแสดงให้แก่ผู้แสดง เช่น เกมรับส่งลูกบอล เกมตุ๊กตาล้มลุก เป็นต้น เพื่อฝึกความคล่องตัวและปฏิภาณไหวพริบ

ละครกับสาระวิทยาศาสตร์

          อุปกรณ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะแสง สี เสียง และอุปกรณ์เสริมต่างๆ จะช่วยสนับสนุนให้การแสดง มีความสมจริง ตระการตาช่วยสื่อความหมายและอารมณ์ ทำให้การแสดงน่าดู น่าชม ชวนให้ติดตามมากขึ้น

          แสงมีความสำคัญ เพราะให้ความสว่างบ่งบอกเวลา และช่วยสร้างอารมณ์ พื้นที่ให้แสงความเข้มของแสง ทิศทางของแสง สีของแสง และความสมจริง จะต้องนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เทคนิคพิเศษที่ช่วยสร้างความตื่นเต้นและเทคนิคทางเคมี ไฟฟ้ามาประยุกต์ เช่น ฉากฝนตก ไฟไหม้ ฟ้าแลบ การเหาะเหิน เดินอากาศ เป็นต้น

          ขณะเดียวกัน การใช้เสียงประกอบก็ช่วยสร้างบรรยากาศ เร้าอารมณ์ผู้ชม เช่น เหตุการณ์ตอนฟ้าผ่า ถ้ามี แสงฟ้าผ่า แต่ไม่มีเสียง ละครก็คงไม่น่าติดตาม แต่ถ้ามีเสียงฟ้าผ่าดังๆ บรรยากาศก็จะมีความตื่นเต้นมากขึ้น

ละครกับสาระคณิตศาสตร์

          ผู้อำนวยการสร้างจะต้องกำหนดวงเงิน เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการผลิต ฝ่ายเหรัญญิกจะต้องจัดทำบัญชีรายจ่ายของฝ่ายต่างๆ และบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เช่น ฝ่ายเทคนิคต้องออกแบบสร้างฉากเครื่องแต่งกาย แสง สี เสียงก็ต้องจัดทำงบประมาณให้ชัดเจน

          ยกตัวอย่าง เช่น การสร้างฉากมีจำนวนกี่ฉาก จำนวนคนผู้ทำหน้าที่สร้างฉาก ทาสี ขนย้ายฉาก ต้องใช้เงินทั้งสิ้นเท่าใด ฝ่ายเครื่องแต่งกายต้องคำนวณว่าเสื้อผ้าในการแสดงจะใช้ทั้งหมดกี่ชุด จะขอยืม เช่า หรือต้องตัดเย็บใหม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการแต่งหน้า ทำผม ซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องจัดทำบัญชีรายจ่ายมาเสนอ เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของงบประมาณที่จะใช้ทั้งหมด

          ความรู้ทางคณิตศาสตร์ยังสามารถนำมาใช้คำนวณถึงความเป็นไปได้ในการวางแผนการแสดงในแต่ละฉาก เช่น การคำนวณพื้นที่หน้าเวที เพื่อจะได้กำหนดจำนวนผู้แสดงและอุปกรณ์ประกอบฉากที่เหมาะสม ไม่มากไป จนแน่น หรือว่างไปจนดูไม่สวยงาม เป็นต้น