Lesson: การใช้ประโยชน์จากแร่
About Lesson
ในชีวิตประจำวันนั้น มีการใช้ประโยชน์จากแร่มากมายหลายชนิดทั้งแร่โลหะและแร่อโลหะ เนื่องจากการดำรงชีวิตของคนเรามีความเกี่ยวพันกับแร่มาโดยตลอดตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ เครื่องสำอาง และยารักษาโรค ซึ่งปัจจุบันมีการค้นคว้าการใช้ประโยชน์จากแร่อย่างกว้างขวาง เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ
 
การใช้แร่ในปัจจุบันนี้สามารถจำแนกการใช้เป็นกลุ่มตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ แร่โลหะ แร่โลหะหายาก แร่โลหะมีค่า แร่กัมมันตรังสี แร่อโลหะหรือแร่อุตสาหกรรม แร่รัตนชาติ และแร่เชื้อเพลิง ซึ่งการใช้ประโยชน์แร่ในแต่ละกลุ่มโดยสังเขป มีดังนี้
 
1. แร่โลหะ (metallic minerals)
 
มีการใช้แร่โลหะในอุตสาหกรรมโลหกรรมเป็นจำนวนมาก เพื่อถลุงแยกเอาโลหะชนิดต่าง ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก ทังสเตน อะลูมิเนียม แคดเมียม นิกเกิล โครเมียม วาเนเดียม และแมกนีเซียม เป็นต้น แร่โลหะที่นำมาถลุงอาจได้โลหะมากกว่า 1 ชนิดและอาจมีโลหะมีค่าและโลหะหายากอยู่ด้วย เนื่องจากแร่หลายชนิดอาจเกิดร่วมกันได้ในธรรมชาติ
 
โลหะต่าง ๆ ที่ได้อาจใช้ในลักษณะโลหะเดี่ยวหรือทำเป็นโลหะผสม ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์-ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ไฟฟ้า อาวุธ ยานอวกาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือและเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น
 

แร่โลหะ metallic minerals

2. แร่โลหะหายาก (rare earth minerals)

 
แร่โลหะหายากเป็นแร่ที่มีธาตุโลหะหายากเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในธรรมชาติโดยทั่วไปจะมีปริมาณน้อย แต่มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างที่แตกต่างจากโลหะทั่วไป เช่น เป็นตัวนำที่ดีกว่า สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้ดีกว่า บางชนิดทนความร้อนสูง และทนทานต่อการกัดกร่อน โลหะหายาก มีทั้งหมด 18 ชนิด คือ อิทเทรียม (Y) แลนทานัม (La) สแคนเดียม (Sc) ทอเรียม (Th) ซีเซียม (Cs) เพรซีโอดิเมียม (Pr) นีโอดิเมียม (Nd) โพรมีเทียม (Pm) ซาแมเรียม (Sm) ยูโรเพียม (Eu) แกโดลิเนียม (Gd) เทอร์เบียม (Tb) ดิสโพรเซียม (Dy) โฮลเมียม (Ho) เออร์เบียม (Er) ทูเลียม (Tm) อิตเทอรเบียม (Yb) และลูทีเซียม (Lu)
 
ประโยชน์ของโลหะหายากนั้นส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ โลหะหายากที่ใช้กันมากได้แก่ อิทเทรียม ซีเซียม แลนทานัม และทอเรียม
 
แร่โลหะหายาก rare earth minerals
3. แร่โลหะมีค่า (precious minerals)
 
แร่ในกลุ่มนี้เป็นแร่ที่ให้โลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ เงิน และทองคำขาว ซึ่งโลหะมีค่าใช้ประโยชน์ในการทำเครื่องประดับ วงจรอีเล็กทรอนิคส์ ฟันปลอม พระพุทธรูป และเหรียญที่ระลึกต่าง ๆ สำหรับทองคำขาวหรือแพลทินัม ยังใช้เป็นวัสดุในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ชิ้นส่วนของเครื่องมืออีเล็กทรอนิคส์และเครื่องบิน เป็นต้น
 

แร่โลหะมีค่า precious minerals

 
4. แร่กัมมันตรังสี (radioactive minerals)
 
มีการใช้แร่กัมมันตรังสีหลายชนิดเพื่อแยกเอาธาตุกัมมันตรังสีต่าง ๆ สำหรับใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของโรงไฟฟ้า เรือดำน้ำและเรือรบ เครื่องมือทางการแพทย์ อาวุธปรมาณู เครื่องฉายรังสี อาหารและพันธุ์พืช เป็นต้น ธาตุกัมมันตรังสีที่ใช้กันมากได้แก่ ยูเรเนียม โคบอลต์ เรเดียม และทอเรียม ซึ่งธาตุโลหะหายากบางตัวมีคุณสมบัติเป็นธาตุกัมมันตรังสีด้วย
 

แร่กัมมันตรังสี radioactive minerals

 
5. แร่อโลหะ (non-metallic minerals)
 
มีการใช้แร่อโลหะหรือแร่อุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง และเป็นปริมาณมากในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น แก้วและเซรามิก ปูนซิเมนต์ หินเพื่อการก่อสร้าง ปุ๋ย ตัวเติมในกระบวนการถลุงโลหะ อิฐและวัสดุทนไฟ เคมีภัณฑ์ ยารักษาโรค ผงขัด วัสดุกรองสาร และแป้งทาตัว เป็นต้น แร่อุตสาหกรรมที่ใช้กันมากได้แก่ หินปูน หินอ่อน หินแกรนิต หินทราย หินชนวน ทราย โพแทช ดินขาว ดินเหนียวชนิดต่าง ๆ เฟลดสปาร์ ควอตซ์ ไพโรฟิลไลต์ โดโลไมต์ ไดอะทอไมต์ ฟลูออไรต์ แบไรต์ ยิปซัม ทัลค์ แอสเบสทอส และ เซอร์คอน เป็นต้น
 

แร่อโลหะ non-metallic minerals

6. แร่รัตนชาติ (gem minerals)
 
แร่ในกลุ่มนี้เรียกว่า แร่รัตนชาติหรือแร่ประดับ มีด้วยกันหลายชนิด โดยนำมาตัดและขัดให้ได้รูปทรงตามต้องการเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของกำไล แหวน สร้อยคอ ลูกปัด สร้อยระย้า หรือใช้ประดับบนมงกุฎ แร่เหล่านี้ได้แก่ เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต บุษราคัม หยก โกเมน นิล โอปอ อะเกต คาลซิโดนี คาร์เนเลียน และควอตซ์สีต่าง ๆ เช่น ใส ชมพู เหลือง ม่วง เทา และขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงหินชนิดต่าง ๆ ที่มีสีสวยงามและแข็งทนทานก็สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้ เช่น ไม้กลายเป็นหิน

แร่รัตนชาติ gem minerals

7. แร่เชื้อเพลิง (fuel minerals)

แร่เชื้อเพลิงเป็นการเรียกโดยทั่วไป ซึ่งความจริงจัดเป็นหินชั้นและหินแปรอย่างหนึ่ง แร่เชื้อเพลิงที่รู้จักกันดีและใช้กันมากนั้นได้แก่ ถ่านหิน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและเป็นแหล่งพลังงานความร้อนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การถลุงแร่ การอบใบยาสูบ และเตาเผาชนิดต่าง ๆ ถ่านหินที่ใช้มีหลายชนิด เช่น ลิกไนต์ บิทูมินัส และแอนทราไซต์ ซึ่งให้ปริมาณความร้อนที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงหินน้ำมันที่มีน้ำมันดิบเกิดปะปนอยู่ด้วย

แร่เชื้อเพลิง fuel minerals

Exercise Files
No Attachment Found
No Attachment Found
0% Complete